ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่องของการ รีเมค (Remake) การจับนำเกมเก่ามาทำใหม่ พร้อมเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ให้มีความเข้ากับยุคสมัยไปแล้ว มาในคราวนี้ เราจะมาดูส่วนกลับส่วนแปลก ที่เป็นการจงใจนำเกมมาทำใหม่ ทำเกมใหม่ หรือทำภาคใหม่ของเกมให้กลับกลายเป็นออกมาแบบย้อนสมัย ย้อนกลับ แบบกลายเป็นการจงใจให้เกมใหม่ แลดูออกมาล้าสมัยไปกว่าเดิม จากกระบวนการที่เรียกว่า ดีเมค (Demake) นี้กันดูบ้าง
ดีเมค คืออะไร ?
ดีเมค ก็เป็นไปตามชื่อของมัน คือแทนที่จะเอาเกมมาทำใหม่ให้ดีขึ้นหรือทันสมัยกว่าเดิม ก็ทำให้ดูแย่ลง กลายเป็นดูเชยล้าหลังแบบจงใจไปแทน แบบเทคโนโลยีไปถึงไหนต่อไหน สามารถทำภาพกราฟิกไปได้ถึงขั้นไหน แสดงผลไปได้ถึงระดับไหนแล้ว ตามสเปคเครื่องและระบบที่รองรับได้ แต่กลับทำเกมออกมาแบบเหมือนย้อนยุคไปเป็นเกมเมื่อ 10 ปีที่แล้วบ้าง เปลี่ยนภาพจาก 3D กลับมาเป็นแบบ 2D Dot Pixel บ้าง ย้อนกลับไปทำให้ออกมาเป็นเหมือนเกมเมื่อยุครุ่นเจนก่อน หรือแม้แต่ยุครุ่นบุกเบิกตั้งแต่สมัย 8 bit อะไรแบบนี้บ้าง หากแต่การดีเมคที่ดูเผินๆ เหมือนกลับเป็นการถอยหลังลงคลองเช่นนี้ ก็กลับมีสาเหตุและข้อดีในตัวของมันเอง เพราะหาไม่เช่นนั้นแล้ว ทางค่ายเกม ทางทีมผู้พัฒนา คงไม่จงใจที่จะจับนำซีรีส์ชุดเกมดีๆ ของตน หรือนำเกมแต่เดิมของตนที่ดีๆ อยู่แล้ว มาทำใหม่ ในแบบที่ล้าหลังไปกว่าเดิมเช่นนี้หรอก
Contra ReBirth (ภาพบน)
Castlevania: The Adventure ReBirth (ภาพล่าง)
2 เกมที่ลงให้กับเครื่อง Wii ที่เป็นตัวอย่างของการดีเมค
คือทำเกมใหม่ให้ออกมาดูเหมือนเกมสมัยเก่าในยุคก่อนแทน
เหตุผลในการดีเมค
เหตุผลและสาเหตุที่การดีเมคเกิดขึ้นมา และสาเหตุที่จงใจทำเกมให้ออกมาในลักษณะดังกล่าว ก็เป็นไปได้ตั้งแต่ การต้องการทำมาเอาใจแฟนๆ เกมรุ่นเก่า รุ่นแรก โดยการนำเกมภาคใหม่มาทำแบบย้อนวัย ให้เหมือนประดุจหนึ่งว่าเกมภาคล่าสุดกลับพึ่งถูกพัฒนาและวางจำหน่ายในสมัยที่ภาคแรกๆ ตอนนั้นออกวางตลาด เป็นการลองอะไรแปลกๆ เอาใจแฟนๆ รุ่นเก่าที่อาจโหยหาและชอบเกมในลักษณะแต่ดั้งแต่เดิมเช่นนี้มากกว่า โดยเป็นการขุดความคลาสสิกในวันวานให้หวนคืนกลับมาใหม่ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดโอกาสให้แฟนรุ่นใหม่ได้สัมผัสถึงความเป็นออริจินัลแต่เดิมจริงๆ ว่า อารมณ์เกมตอนแรกวางจำหน่ายในยุคนั้นเป็นเช่นไรบ้าง ซึ่งนี่ก็อาจเป็นการโยนหินถามทาง หยั่งกระแสจากกลุ่มแฟนๆ ที่มีต่อเกมซีรี่ส์ดังกล่าวไปในตัวด้วยว่า ทำออกมาแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ชอบแบบไหนมากกว่ากัน ซึ่งก็สามารถเก็บความคิดเห็นและกระแสที่มีต่อตัวเกมมาใช้ประกอบในการพัฒนาเกมตัวต่อไปได้ โดยหาสัดส่วนความพอดีระหว่างความทันสมัย และความอนุรักษ์ คงความคลาสสิกแต่เดิมเอาไว้ เพื่อให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายทั้งแฟนหน้าเก๋าเก๊าเก่า ยันแฟนยุคใหม่ ที่พึ่งรู้จักเกมในชุดนี้ได้
Rockman 7 Famicom
Rockman 8 Famicom
Rockman 9
Rockman 10
Rockman 7 – 8 Famicom เป็นแฟนเกมที่ไม่ใช่ของทางการ
ที่เป็นความพยายามในการนำ Rockman ภาคใหม่
ย้อนวัยกลับไปออกมาในแบบ 8 bit แบบสมัยลงบนเครื่อง Famicom
และดูเหมือนทาง Capcom จะเล็งเห็นว่ามีกลุ่มแฟนๆ
ที่โหยหาความคลาสสิกแต่เดิมของ Rockman อยู่มากมาย
ดังจะเห็นได้จากจำนวนแฟนเกม Rockman แบบ 8 bit ที่แฟนๆ ทำขึ้นมากันเอง
จึงจงใจในการจับ Rockman ภาคใหม่ อย่างภาค 9 และ 10
ทำออกมาแบบดีเมค หรือในแบบที่ย้อนวัยไป
ดีเมคจากข้อจำกัด
ในบางครั้ง การดีเมคเองก็อาจเกิดจากความจำเป็นที่จำต้องทำ ไม่ใช่เพราะอยากย้อนกลับไปหาความคลาสสิกแบบย้อนวัยอะไร แต่จำต้องทำ เพราะเกมถูกนำไปลงหรือทำภาคใหม่ออกมาโดยลงให้กับเครื่องเล่นที่มีสเปคความจุอะไร ต่ำกว่าตัวเกมในเครื่องก่อนหน้า แบบ อาจเคยลงเครื่องคอนโซลตัวล่ามาแรงที่มีประสิทธิภาพการแสดงผลได้แบบสุดๆ มาก่อน แต่วันดีคืนดี ต้องการทำภาคต่อไปลงให้กับเครื่องที่มีสเปคต่ำกว่า ต้องการจับตัวเกมแต่เดิมไปลงให้กับเครื่องเกมพกพาหรือตัวมือถือที่มีข้อจำกัดมากกว่า ในกรณีเช่นแบบที่ว่านี้ จะทำการพอร์ตอะไรไปทั้งดุ้น หรือพัฒนาทำใหม่โดยใช้สเปคของเกมในระดับเดียวกัน เท่ากันหมด ก็คงไม่สามารถทำได้ ทำให้ต้อง อยู่ในภาวะจำยอมที่จำต้องทำการดีเมค ทำเกมนั้นๆ ขึ้นมาใหม่ในแบบที่ลดระดับจากของเดิมลงไป เปลี่ยนปรับปรุงระบบ การแสดงผล การเล่น การควบคุม ให้เข้ากับตัวเครื่องที่ย้ายไป ให้สามารถออกมาเล่นได้ แม้จะดูแล้ว ออกมาไม่หวือหวา หรืออลังเทียบเท่าตัวต้นแบบหรือภาคก่อนหน้าก็ตาม แต่ก็จำต้องยอมทำให้ดูด้อยลงไปแบบจงใจ จากข้อจำกัดที่ต้องเจอ ซึ่งนั่นก็อาจหมายรวมถึงข้อจำกัดประกอบอื่นๆ เช่นข้อจำกัดเรื่องเงินทุน เวลา และทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนา ที่อาจมีให้ใช้ได้จำกัดกว่าเดิม หรืออาจมาจากข้อกำหนดที่ถูกวางมาตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา ไปจนถึงโจทย์ประการอื่นๆ ที่ทำให้จำต้องยอมดีเมคเกมออกมาในลักษณะดังกล่าว
Street Fighter II (GB) (ภาพบน)
Street Fighter Zero (GBC) (ภาพล่าง)
แม้แต่เกมต่อสู้ชื่อดังอย่าง Street Fighter
เมื่อต้องการนำเกมของตนไปลงให้กับเครื่องเกมพกพา
อย่าง Game Boy หรือ Game Boy Color
ก็จำต้องทำการดีเมค ลดสเปค และปรับเปลี่ยนเกมแต่เดิมของตนลง
เพื่อให้ตัวเกมสามารถเล่นบนเครื่องที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า
มีจำนวนปุ่มอะไรน้อยกว่าได้
Battle Arena Toshinden (GB) (ภาพบน)
SNK vs Capcom: Match of the Millennium (NGPC) (ภาพล่าง)
แม้แต่เกมต่อสู้ในชุดโทชินเด็น ที่ตัวต้นฉบับเป็นเกมต่อสู้แบบ 3D
แต่เมื่อนำมาลงให้กับเครื่อง Game Boy ก็จำต้องทำการดีเมค
ปรับอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงการเปลี่ยนตัวเกมเป็นแบบ 2D แทนด้วย
SNK vs Capcom ที่ลงให้กับเครื่อง Neo Geo Pocket Color ก็เช่นกัน
ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นไปจากตัวต้นฉบับพอสมควร
แม้อารมณ์อาจจะไม่ได้เหมือนตัวต้นฉบับ แต่ก็ได้ความสนุกในรูปแบบอื่นมาแทน
การดีเมคกับความท้าทายที่มี
ถึงจะเห็นเป็นแบบนี้ ดีเมค ก็จัดว่าเป็นอะไรที่ท้าทายทางทีมผู้พัฒนาเป็นอย่างมาก ด้วยเหมือนว่าจำต้องจำกัดตัวเอง จำกัดเครื่องมือ จำกัดทรัพยากรให้น้อยลงในการทำงาน (หรืออาจถูกจำกัดมาแต่แรกแล้วก็เป็นได้) ภาพการแสดงผลก็ต้องถูกจำกัด สีที่ใช้ก็อาจเลือกมาใช้เยอะไม่ได้ ดนตรีเสียงประกอบ ก็อาจต้องทำแบบสังเคราะห์แบบจำกัดๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเพลงเกมแบบในช่วงยุคนั้นไป จะทำออกมาเกินเลย เกินยุค หรือทำออกมาแล้วให้ความรู้สึกเป็นเกมสมัยใหม่ไปไม่ได้ โอเคว่าอาจใช้เทคโนโลยีในสมัยปัจจุบันตีเนียน หรือทำให้ออกมาดูเนียนๆ เหมือนเกมยุคเก่า ยุคก่อนหน้า ด้วยการใส่อะไรหลอกๆ เข้ามาแบบจงใจ กับอะไรที่จริงๆ แล้วอาจไม่ต้องมีก็ได้ เช่น บางเกมขนาดแกล้งทำเฟรมเรตเกมตัวเองให้ตก มีกระตุก มีทำภาพออกมาให้ไม่คมชัด มีภาพแตก ซ้อนกันแล้วทับหายกันไป มีข้อจำกัดทั้งภาพและเสียง ไปจนถึงการจงใจทำให้ระบบมีความเชยล้าหลัง แบบต้องจดพาสเวิร์ดเอาไว้ใช้เวลาเล่นต่อเวลาเข้า ออกเกม คือจงใจทำเป็นเหมือนเกมยุคเก่า ทำอะไรต้องทำตามลำดับ ไม่มีลัดขั้นตอน ไม่มีสอนเล่น ไม่มีการบอกใบ้ ไม่มีอะไรอำนวยความสะดวกให้เลย คือเอากระทั่งสิ่งที่เป็นเสมือนข้อด้อยของเกมสมัยก่อน กลับมาใส่เข้าไปในเกมแบบจงใจ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไปก็ได้ แต่ก็ยังใส่ เพื่อให้สามารถดื่มดำสัมผัสกับบรรยากาศของเกมยุคนั้นแบบเป็นจริงเป็นจัง ให้มีความอินแบบเต็มที่ได้
ส่วนมาก ตรงนี้จะเป็นทางเลือกเสียมากกว่า คือเป็นทางเลือกว่าสามารถแสดงผลแบบยุคเก่า ที่จอทีวียังเป็นเครื่องแบบอ้วนตุเสียบสาย 3 สี แบบนั้น หรือเลือกว่าจะแสดงผลแบบภาพ HD แบบเรียบเนียนก็สามารถเลือกได้ จะเอาเพลงเสียงสังเคราะห์แบบ 8 bit หรือแบบอเรนจ์ใหม่ก็ได้ จะใช้วิธีจดพาสเวิร์ด หรือเล่นรอบเดียวจบแบบแต่เดิม หรือใช้ระบบเซฟที่มีรองรับไว้ให้ก็ได้ จะเล่นงมเองเอาทั้งหมด หรือเปิดไกด์ที่มีติดแถมมาให้ก็ได้ คือมักให้สามารถเปิดปิด ปรับได้ และเป็นทางเลือกมากกว่าจะบังคับใส่เข้าไปตรงๆ ในเกมดีเมคเกมนั้นๆ คือถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศแบบยุคเดิมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดแบบเต็มที่ก็ทำได้ หรือไม่ชอบ ไม่ถนัด ก็ปรับให้พอเข้ากับยุคนี้หน่อยก็ทำได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกเกมจะทำออกมาแบบนี้ บางเกมที่มั่นใจว่าเกมแต่เดิมของตนดีจริง รูปแบบดั้งเดิมนี้ดีจริง ยังคงขายได้อยู่ ก็อาจใส่ และคงทุกอย่างแบบแต่เดิมเอาไว้โดยไม่มีโหมดสำรองที่รองรับการปรับเปลี่ยนอะไรเลยแบบนี้ก็มี ก็คือวัดใจกันไปเลยว่าแบบเดิมแบบนี้คนจะยังชอบกันไหม เกมจะยังขายได้อยู่ไหม
Final Fantasy XV: Pocket Edition
ก็เป็นอีกตัวอย่างของการดีเมคกับโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไร
จึงสามารถถ่ายทอดเนื้อเรื่องและประสบการณ์ของ FFXV ออกมา
ในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงความเป็น FFXV เอาไว้
โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกดาวน์เกรด หรือด้อยไปกว่าตัวต้นฉบับได้
ได้มีความพยายามนำเกม Biohazard / Resident Evil ภาคแรก
มาดีเมค ทำลงให้กับเครื่อง Game Boy Color
โดยพยายามคงภาพและสภาพอย่างที่เป็นจากตัวเกมต้นฉบับเอาไว้ให้มากที่สุด
แต่สุดท้าย ทาง Capcom ก็คิดว่าเกมตัวดังกล่าวไม่น่าจะดีพอ
ที่จะทำให้บรรดาแฟนๆ พึงพอใจได้
จึงยกเลิกการวางจำหน่ายเกมตัวดังกล่าว (ภาพบน) ไป
แต่กระนั้นก็มีภาพ และตลับเกม (ตัวเกมที่ยังไม่สมบูรณ์)
หลุดมาให้เราได้เห็นอยู่เหมือนกัน
แล้วภายหลังจากนั้น จึงทำการพัฒนาเกม
Biohazard Gaiden / Resident Evil Gaiden (ภาพล่าง)
ตัวใหม่ สำหรับใช้วางจำหน่ายบนเครื่อง Game Boy Color แบบเป็นการเฉพาะ
โดยได้มีการแก้ไขรูปแบบการเล่นอะไรหลายๆ อย่าง
ให้แตกต่างโดยไม่อิงกับตัวต้นฉบับไปเลย
ซึ่งนั่นก็คือลักษณะและรูปแบบที่พบเห็นได้โดยทั่วไปของการดีเมคเกม หรือจับเกมใหม่มาปรับเก่าแทน แต่นอกจากนี้ ยังมีการที่เกมออกตัวใหม่มา ออกภาคต่อภาคใหม่มา แล้วกลับกลายเป็นห่วยแบบล้าหลังกว่าเดิมไปเอง ซึ่งก็เกิดจากปัญหาภายใน การเปลี่ยนทีมพัฒนาแบบยกเครื่อง ปัญหาเรื่องทุน เรื่องงบ หรืออะไรก็ตาม จนทำให้ได้เกมใหม่ออกมาแบบล้าหลังราวกับเป็นเกมในยุคหลายปีก่อน แบบนี้จะเรียกดีเมคก็อาจเรียกได้ไม่เต็มปาก เพราะมันไม่ใช่การจงใจจำกัดการพัฒนาเกมให้ดูล้าหลัง หรือย่อจำกัดเกมมาในแบบที่ตั้งใจให้ออกมาแบบนั้น แต่เป็นเหมือนพยายามทำออกมาให้ดีแล้ว แต่ดันทำออกมาได้เต็มที่แค่นี้มากกว่า ซึ่งส่วนมาก ออกมาแบบนี้ จะกลายเป็นเกมที่ห่วย โดนสับเละ และกลายเป็นเกมสร้างชื่อเสียไปให้กับเกมชุดนั้นๆ แทนซะมากกว่า
Halo 2600 (ภาพบน)
Princess Rescue (ภาพล่าง)
ในบางครั้ง การดีเมคก็อาจทำออกมาอย่างสุดโต่ง
จนอาจถือเป็นการพาโรดี้ให้เป็นที่ตลกขบขันได้
ดังเช่นเกม Halo 2600
ที่เป็นการทำเกมออกใหม่จากทางผู้พัฒนาอย่าง Bungie
โดยเป็นการดีเมคเกมตัวใหม่สำหรับให้ใช้เล่นบนเครื่องรุ่นดึกดำบรรพ์
อย่าง Atari 2600 ได้ (มีตลับออกมาเล่นได้จริงๆ ด้วยนะเออ)
หรือเกม Princess Rescue ที่เป็นการจับ Super Mario Bros. ภาคแรก
มาทำจำลองลงให้กับเครื่อง Atari 2600
(และมีตลับ สามารถเล่นได้จริงด้วยเช่นกันนะ)
Port Remaster Remake Reboot เหมือนต่างกันอย่างไร ?
Resident Evil 2 Remake เผยชุดตัวละครเกมแบบ”โพลิกอน” สมัย PS1